Masaryk, Tomáš Garrigue

นายทอมาช การ์ริก มาซาริก (๒๓๙๒-๒๔๘๐)

​​​​​​

     ทอมาช การ์ริก มาซาริก เป็นประธานาธิบดีคนแรก ( ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๓๕) ของประเทศเชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia)* เป็นนักปรัชญาและผู้นำขบวนการชาตินิยมและมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งประเทศเชโกสโลวะเกียภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ชาวเช็กยกย่องมาซาริกว่าเป็นบิดาแห่งเชโกสโลวะเกียและเป็นผู้นำประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่
     มาซาริกเกิดเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๕๐ ในแคว้นโมเรเวีย (Moravia) ซึ่งขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรีย (Austrian Empire)* บิดาเป็นชาวสโลวักและมีอาชีพเป็นคนขับรถม้า ส่วนมารดามีเชื้อสายเช็กเยอรมันและเป็นหญิงรับใช้ เขาเคยฝึกงานกับช่างทำกุญแจระยะหนึ่ง ก่อนที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาที่เมืองเบอร์โน (Brno) เมื่อ ค.ศ. ๑๘๖๕ ต่อมาเขาศึกษาในมหาวิทยาลัยเวียนนา และได้รับปริญญาเอกใน ค.ศ. ๑๘๗๖ เขาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยไลพ์ซิก (Leipzig) และได้พบรักกับชาร์ลอตต์ การ์ริก (Charlotte Garrigue) นักศึกษาวิชาดนตรีชาวอเมริกันเป็นเวลา ๑ ปีทั้งคู่สมรสกันใน ค.ศ. ๑๘๗๘ มีบุตรชาย คือ ยาน มาซาริก (Jan Masaryk)* ซึ่งต่อมาเป็นผู้มีบทบาทสูงในทางการเมืองของเชโกสโลวะเกีย ใน ค.ศ. ๑๘๗๙ มาซาริกได้รับการแต่งตั้งเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาปรัชญาในมหาวิทยาลัยเวียนนา ต่อมาได้ย้ายมาสอนวิชาปรัชญาในมหาวิทยาลัยเช็กในกรุงปรากและได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ใน ค.ศ. ๑๘๘๒ ด้วยผลงานทางวิชาการเรื่อง Suicide as a Mass Social Phenomenon of Modern Civilization
     ในระหว่างที่มาซาริกศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเวียนนา เขาได้มีบทบาททางการเมืองโดยร่วมในขบวนการกู้ชาติของชาวเช็ก ขณะที่เขาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยเช็กในกรุงปราก เขาได้ออกหนังสือพิมพ์รายเดือนชื่อ The Athenaeum เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมเช็กใน ค.ศ. ๑๘๘๖ เขาเสนอการค้นคว้าทางวิชาการที่มีข้อสรุปว่าวรรณกรรมเช็ก ๒ เรื่องที่อ้างกันว่าเป็นเอกสารโบราณที่เขียนขึ้นในสมัยกลางตอนต้น เป็นของปลอมที่เพิ่งเขียนโดยกวีชาวเช็กในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ แม้การเปิดเผยข้อเท็จจริงนี้จะทำให้ชาวเช็กไม่พอใจ แต่มาซาริกไม่ต้องการให้ชาวเช็กเสียชื่อเสียงจากการที่นักชาตินิยมเช็กใช้เป็นหลักฐานปลอมอ้างถึงอดีตทางวัฒนธรรมของตน
     ใน ค.ศ. ๑๘๙๐ มาซาริกเข้าเป็นสมาชิกของพรรคเช็กหนุ่ม (Young Czech Party) ซึ่งเป็นพรรคของนักชาตินิยมเช็ก ใน ค.ศ. ๑๘๙๑ เขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของออสเตรีย เขาพยายามต่อสู้เพื่อให้ชาวเช็กในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire; Austria-Hungary)* มีอำนาจปกครองตนเองและมีโอกาสทางการศึกษามากขึ้น แต่เขาไม่เห็นด้วยกับกลุ่มผู้นำพรรคเช็กหนุ่มที่ มีนโยบายรุนแรง ดังนั้นเขาจึงลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใน ค.ศ. ๑๘๙๓ และกลับไปสอนที่มหาวิทยาลัยเช็ก ขณะเดียวกันเขาทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์รายเดือนชื่อ Our Epoch และเขียนบทความเกี่ยวกับปัญหาทางสังคมและการเมือง
     มาซาริกตั้งพรรคการเมืองใหม่ชื่อพรรคเรียลลิสต์ (Realist Party) และในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๐ เขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขาเป็นฝ่ายค้านที่มีบทบาทเด่นในรัฐสภา มาซาริกโจมตีการเป็นพันธมิตรระหว่างจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีกับจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* และนโยบายการขยายอำนาจในคาบสมุทรบอลข่านของออสเตรีย เขาสนับสนุนการเรียกร้องสิทธิปกครองตนเองของชนกลุ่มน้อยในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี การให้ความสำคัญแก่ภาษาของชนกลุ่มน้อยทัดเทียมกับภาษาเยอรมันและการรวมเช็กเข้ากับสโลวัก เมื่อมาซาริกได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งใน ค.ศ. ๑๙๐๗ เขาไม่ได้เรียกร้องเอกราชอย่างเปิดเผย แต่สนับสนุนการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เป็นสหพันธ์ของชาติต่าง ๆ ที่มีการปกครองตนเอง ให้ยุติการต่อต้านยิวและคัดค้านการผนวกบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา (Bosnia-Herzegovina) ของออสเตรียใน ค.ศ. ๑๙๐๘ มาซาริกได้แถลงในรัฐสภาเรื่องรัฐบาลออสเตรีย-ฮังการีใช้หลักฐานปลอมในการลงโทษชาวเซิร์บ (Serbs)
     เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ แม้พวกเช็กและสโลวักจะต่อต้านฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* แต่ก็ขัดแย้งกันในแนวนโยบาย มาซาริกซึ่งมีความคิดจะจัดตั้งประเทศเชโกสโลวะเกียขึ้นจึงลี้ภัยออกนอกประเทศพร้อมกับเอดุอาร์ด เบเนช (Eduard Beneš)* คนทั้งสองจัดตั้งขบวนการกู้เอกราชขึ้นที่กรุงลอนดอนโดยสนับสนุนให้สภาแห่งชาติเชโกสโลวัก (Czechoslovak National Council) ซึ่งได้รับการยอมรับจากฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นรัฐบาลเฉพาะกาลของเชโกสโลวะเกีย มาซาริกประกาศจุดมุ่งหมายว่าให้โบฮีเมียเป็นเอกราชและปกครองระบอบประชาธิปไตย ให้มีการรวมเช็กกับสโลวัก ให้แบ่งแยกจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ตามแนวเชื้อชาติและการจัดตั้งรัฐใหม่ ๆ ระหว่างเยอรมนี และรัสเซีย เพื่อเป็นแนวป้องกันการขยายอำนาจของเยอรมนี
     ขณะที่เกิดการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ในรัสเซียใน ค.ศ. ๑๙๑๗ มาซาริกได้เดินทางไปรัสเซียเพื่อจัดตั้งกองทัพเชโกสโลวะเกีย โดยรวบรวมนักโทษสงครามชาวเช็กและชาวสโลวักซึ่งได้รับการปลดปล่อยจากรัสเซียจัดตั้งเป็นกองทัพขึ้น กองทัพดังกล่าวร่วมมือกับรัสเซียและฝ่ายสัมพันธมิตรต่อสู้กับออสเตรีย-ฮังการีและเยอรมนี ใน ค.ศ. ๑๙๑๘ มาซาริกเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อหารือเรื่องเอกราชของเชโกสโลวะเกียกับประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) และรอเบิร์ต แลนซิง (Robert Lansing) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งนำไปสู่คำประกาศแลนซิง (The Lansing Declaration) ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ที่สนับสนุนขบวนการเรียกร้องเอกราชของเชโกสโลวะเกีย การปลดปล่อยเชโกสโลวะเกียถือเป็นส่วนหนึ่งของหลักการ ๑๔ ข้อ (Fourteen Points)* ของประธานาธิบดีวิลสัน มาซาริกพยายามรวบรวมชาวเช็กและชาวสโลวักที่อาศัยอยู่ในประเทศของฝ่ายสัมพันธมิตรและประเทศที่เป็นกลางโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา เพื่อดำเนินการจัดตั้งสาธารณรัฐเชโกสโลวะเกีย ต่อมาใน เดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ มาซาริกและเบเนชก็ออกคำประกาศเอกราชแยกตัวออกจากอำนาจปกครองของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)*
     เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๙๑๘ และจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีสลายตัว มาซาริกเดินทางกลับกรุงปรากในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๘ เมื่อมีการจัดตั้งประเทศเชโกสโลวะเกียขึ้นตามสนธิสัญญาแซงแชร์แมง (Treaty of St. Germain ค.ศ. ๑๙๑๙)* เขาก็ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ เขาได้รับการเลือกตั้งอีก ๓ ครั้ง ใน ค.ศ. ๑๙๒๐ ค.ศ. ๑๙๒๗ และ ค.ศ. ๑๙๓๔ ตามลำดับ การปฏิรูปที่ดินเป็นงานชิ้นแรกของรัฐบาลภายใต้การนำของมาซาริก รัฐบาลมีนโยบายเป็นกลางในปัญหาชนกลุ่มน้อยในประเทศโดยเฉพาะชาวสโลวักและชาวเยอรมัน และปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับรัฐ เขาสนับสนุนนโยบายต่างประเทศของเบเนชอย่างเต็มที่ และตระหนักว่าการดำรงอยู่ของเชโกสโลวะเกียขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของมหาอำนาจยุโรปในขณะนั้น มาซาริกให้การสนับสนุนสันนิบาตชาติ (League of Nations)* อย่างมาก และเป็นคนแรก ๆ ที่เตือนว่าอนาคตของยุโรปจะตกอยู่ในอันตรายหลังจากที่พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Wokers’ Party-NSDAP; Nazi Party)* ขึ้นมามีอำนาจในเยอรมนี ใน ค.ศ. ๑๙๓๓ เขาลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๕ เพื่อเปิดโอกาสให้เอดุอาร์ด เบเนชได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี หลังจากมาซาริกพ้นตำแหน่งเขาเดินทางไปใช้ชีวิตในชนบท ทอมาช การ์ริก มาซาริกถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๗ ขณะอายุ ๘๗ ปี.



คำตั้ง
Masaryk, Tomáš Garrigue
คำเทียบ
นายทอมาช การ์ริก มาซาริก
คำสำคัญ
- สนธิสัญญาแซง-แชร์แมง
- สันนิบาตชาติ
- วิลสัน, วูดโรว์
- แลนซิง, รอเบิร์ต
- มาซาริก, ทอมาช การ์ริก
- เชโกสโลวะเกีย
- มาซาริก, ยาน
- โมเรเวีย, แคว้น
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา
- มหาอำนาจกลาง
- เบอร์โน, เมือง
- การ์ริก, ชาร์ลอตต์
- เยอรมัน, จักรวรรดิ
- ออสเตรีย, จักรวรรดิ
- ออสเตรีย-ฮังการี, จักรวรรดิ
- หลักการ ๑๔ ข้อ
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- เบเนช, เอดูอาร์ด
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี
- ฮับส์บูร์ก, ราชวงศ์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๓๙๒-๒๔๘๐
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
เชาวลี จงประเสริฐ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 5.M 395-576.pdf